หยั่งรู้ฟุตบอลสเปน #1




การเมือง, เชื้อชาติ, ประเพณี, สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมอยู่ในการแข่งขันกีฬาที่ชื่อว่าฟุตบอลได้จริงหรือ ? เชื่อว่าประเทศที่ฟุตบอลถูกหล่อหลอมด้วยสิ่งที่ไม่ผูกมัดข้างต้นได้อย่างฝังลึกมากที่สุดประเทศหนึ่งนั่นก็คือ 'สเปน

ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดเมื่อมองลงไปถึงความขัดแย้งระหว่างสโมสรในสเปนที่เห็นได้ชัดที่สุดร้อยละ 90 จะต้องเอ่ยปากออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง 'บาร์เซโลน่าและเรอัล มาดริด' มันไม่ใช่เรื่องแปลก ประวัติศาสตร์ของสองทีมนี้นั้นมีเรื่องราวมากมายให้ขุดคุ้ยและพูดถึง ทั้งเรื่องที่หาข้อพิสูจน์ได้และยังถือเป็นปริศนาที่ไม่จำเป็นต้องมี 'คำตอบ' มารองรับ 

ไม่เพียงแค่การเมืองเท่านั้นที่มีบทบาทสำหรับวงการฟุตบอลแดนกระทิงดุ ทุกองค์ประกอบของมนุษย์ย่อมมีผลทั้งประเพณี ชนชั้นวรรณะของประชาชน และรวมไปถึงที่ตั้งของแคว้นที่มีปัญหาขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดอาทิเช่น คาตาลัน, กาสตีญ่า (เมืองหลวงในปัจจุบัน), บาสก์ ในเขตการปกครองของสเปนนั้นยังมีแคว้นอื่นๆอีกเช่่น กาลิเซีย, อันดราลูเชีย, อารากอน ฯลฯ 

และเมื่อสงครามระหว่างบาร์ซ่าและมาดริดเป็นสิ่งแรกที่เราจะนึกถึงในความขัดแย้งก็ขอสุมไฟเรื่องราวขึ้นมาให้ได้ติดตามกันในบรรทัดต่อไป 

: สงครามประ(หลาด)สาท : 


มันเป็นสงครามที่มีทั้งความประหลาดและเรื่องประสาทให้สมทบคิดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หนึ่งในนักเตะที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั้งโลกรวมไปถึงขยี้ใจแฟนบอลบาร์ซ่าได้ถึงขั้วเส้นเลือดใหญ่เลยนั่นก็คือหลุยส์ ฟิโก้ ! ชื่อของหลุยส์ ฟิโก้มักเป็นชื่อแรกที่สร้างความป่วนประสาทของสาวกกูเล่ได้เป็นอย่างดี 

ในปี 2000 หลุยส์ ฟิโก้ย้ายเข้าสู่ถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาบิวด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติโลก เวลานั้นและหลังจากนั้นก็ถูกทำลายโดยซีเนอดีน ซีดานและคริสเตียโน โรนัลโด้ตามลำดับ ความรุนแรงหลังจากการย้ายตัวครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้คงอธิบายความเจ็บปวดได้เป็นอย่างดีสำหรับแฟนบอลบาร์ซ่า 

หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 เดือนหลุยส์ ฟิโก้ก็ได้สวมชุดขาวของเรอัล มาดริดกลับไปสู่คัมป์ นูด้วยบทบาทของศัตรู มันเป็นเกมส์ที่ร้อนระอุดั่งภูเขาไฟที่กำลังปะทุ ในแมตช์นั้นฟิโก้ได้รับของสมนาคุณจากแฟนบาร์ซ่าในมุมธงเตะมุมด้วยก้อนกระดาษ เหรียญ และโทรศัพท์มือถือจำนวน 3 เครื่องด้วยกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเลยแม้แต่นิดเดียว

และแมตช์แห่งประวัติศาสตร์ในศึกเอล กลาชิโก้ปี 2002 เดือนพฤศจิกายนได้ถูกกล่าวไว้ว่าเป็น 'Derby of Shame' ศึกดาร์บี้ที่น่าละอาย (หรือในภาษาสเปนคือ Derbi dela Verguenza) คำดังกล่าวบ่งบอกได้ถึงความอัปยศในแมตช์นั้นได้เป็นอย่างดี 


หลุยส์ ฟิโก้ได้รับความเกรี้ยวกราดจากสาวกกูเล่ที่มุมธงอย่างสาหัสเช่นเดิม และดูเหมือนว่าภูเขาไฟแห่งความโกรธยิ่งปะทุหนักมากขึ้นกว่าเดิม ฟิโก้ในยูนิฟอร์มชุดขาวไม่สามารถเตะมุมได้และทำให้ต้องหยุดเกมส์ ตอนนั้นร่วมสิบนาที และสิ่งที่น่าละอายก็คือแฟนบาร์ซ่าได้ขว้างหัวหมู รวมไปถึงขวดวิสกี้ลงมาในสนาม ถึงแม้จะมีหน่วยป้องกันความรุนแรงยืนคุมรอบสนามเหมือนดั่งเกิดสงครามกลางเมืองก็ตาม 

สิ่งที่แย่สำหรับการกระทำของบาร์ซ่าไม่ได้หมดเพียงแค่แฟนบอลบางส่วนในช่วงการแข่งขัน แต่ทว่าหลังจบเกมส์โจน กาสปาสต์ประธานสโมสรบาร์เซโลน่าในเวลานั้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "มันเป็นแผนของทางมาดริดที่ให้ฟิโก้มาทำหน้าที่เตะมุม เพราะว่าพวกเขาจะได้ยั่วยุความโกรธของแฟนบอลบาร์ซ่าให้รุนแรงขึ้น

ดูเหมือนว่าประธานสโมสรที่ฉาวโฉ่ที่สุดคนหนึ่งของบาร์ซ่าอย่างกาสปาสต์จะไม่รู้สึกรับผิดชอบและละอายต่อสิ่งที่ได้ออกไปสู่สายตาประชาชนทั้งโลกที่ชมเกมส์กีฬา เวลานั้นอยู่เลย ซึ่งท้ายที่สุดบาร์ซ่าก็ถูกแบนเกมส์ในคัมป์ นูไปทั้งหมด 2 เกมส์หลังจากนั้น 


ปัญหาระหว่างการซื้อขายของสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งสเปนยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เมื่อในปี 1973 โยฮัน ครัฟฟ์นักเตะเทวดาชาวดัตช์ได้ย้ายมาสู่สโมสรบาร์เซโลน่า โดยประเด็นสำคัญคือเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 3 สมัยผู้นี้ได้ปฏิเสธการร่วมทีมเรอัล มาดริดก่อนที่จะมาซบศัตรูอย่างบาร์เซโลน่า ครัฟฟ์ได้ให้เหตุผลสั้นๆเพียงแค่ว่า "ผมไม่อยากร่วมทีมที่เกี่ยวข้องกับนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก

ถ้าการย้ายของฟิโก้คือการตัดขั้วหัวใจของแฟนบอลบาร์ซ่าแล้ว การย้ายของหลุยส์ เอนริเก้ก็เจ็บปวดไม่แพ้กันในปี 1996 หลุยส์ เอนริเก้มิดฟิล์ฝีเท้าฉกาจคนหนึ่งของวงการฟุตบอลสเปนได้ย้ายจากทีมเรอัล มาดริดไปสู่บาร์เซโลน่า สิ่งที่แตกต่างจากฟิโก้นั่นก็คือการแสดงออกถึงความเกลียดชังในทีมมาดริดอย่างเปิดเผยของเจ้าตัวนั่นเอง 

หลุยส์ เอนริเก้จะจูบตราสโมสรของบาร์ซ่าแทบทุกครั้งเมื่อเขาทำประตูใส่มาดริดได้ และเขาก็เคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกขยะแขยงเสมอเวลาสวมชุดขาวของทีมจากเมืองหลวง ในงานฉลองครบรอบ 100 ปีของสโมสรเรอัล มาดริดในเดือนกุมภาพันธ์ีปี 2002 นั้น มีเพียงแค่หลุยส์ เอนริเก้คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอดีตผู้ค้าแข้งกับทีมราชันย์ชุดขาวและไม่ได้ถูกรับเชิญจากทางสโมสร 

"ผมไม่เห็นจะสนใจไองานเลี้ยงจอมปลอมนั่นเลยสักนิด ผมอยู่ในที่ที่ดีกว่า ผมมีความสุขดีมากที่นี่" เอนริเก้กล่าววาทะแสบคันต่อประเด็นข้างต้นกับสื่อซึ่ีงน่าจะสร้างความป่วนประสาทให้กับสาวกโลส บังโกลสไม่มากก็น้อย 

หากจะกล่าวถึงสงครามระหว่างเรอัล มาดริดและบาร์ซ่าและไม่ได้บรรยายถึงความขัดแย้งระหว่างคาตาลันและนายพล ฟรังโก้ก็คงเหมือนยามบ่ายที่ไม่มีแสงแดด แต่ทว่าประเด็นนี้นั้นละเอียดอ่อนพอสมควร และผู้เขียนต้องขอยกประเด็นนี้ไว้ต่อในตอนต่อไปในแบบเต็มหน้ากระดาษ รวมไปถึงนักเตะประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของบาร์ซ่าและมาดริดอย่างลาดิสเลา คูบาล่า และอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่บุรุษผู้สร้างกรณีศึกษาให้กับ FIFA ในตอนต่อไป 


: สังเวียนเดือดของชนชั้นในแคว้นอันดราลูเชีย : 

ความเข้มข้นของวงการฟุตบอลสเปนยังไม่จบเพียงแค่บาร์ซ่าและมาดริด การแบ่งแยกสังคมและชนชั้นเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลก และสิ่งนั้นก็มีผลมาถึงความขัดแย้งระหว่างสโมสรเซบีญ่าและเรอัล เบติส คู่ปรับตลอดกาลแห่งแคว้นอันดราลูเชียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสเปน 

สำหรับเซบีญ่านั้นถูกมองว่าเป็นทีมสำหรับผู้มีฐานะ ร่ำรวยทางการเงิน ตรงกันข้ามเบติสนั้นเปรียบเสมือนทีมสำหรับผู้คนรากหญ้า รวมไปถึงผู้คนในระดับผู้ใช้แรงงาน 

ความบาดหมางครั้งหนึ่งในอดีตนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1940 เมื่อฟรานซิสโก แอนตูเนสผู้จัดการทีมเบติส เวลานั้นได้ออกจากตำแหน่งและไปรับงานเป็นผู้จัดการทีมเซบีญ่าในเวลาต่อมา ! ซึ่งถือเป็นการหักหน้าอย่างรุนแรง ความคับแค้นใจนั้นไม่แตกต่างจากคู่แค้นระดับประเทศอย่างบาร์ซ่าและมาดริดเช่นกัน 

และชนวนเหตุครั้งใหญ่ที่เป็นที่โจทย์จันสำหรับแฟนบอลและสโมสรร่วมแคว้นทั้งสองนี้เลยก็คือเหตุการณ์ในฤดูกาล 98-99 ครั้งที่เซบีญ่ายังทำศึกอยู่ในลีคเซกุนด้า ดิวิชั่น ขณะที่เบติสนั้นกำลังโลดแล่นอยู่อย่างหยิ่งศักดิ์ศรีในลาลีกา 


ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนจบฤดูกาลเซบีญ่านั้นกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะคว้าพื้นที่เพลย์-ออฟขึ้นสู่ลาลีกาให้ได้และเซบีญ่าต้องเจอกับสโมสรอัลบาเชเต้ทีมในแคว้นกาสตีญ่า และพวกเขาก็ต้องการชัยชนะ สำหรับแต้มสำคัญสำหรับการก้าวไปอีกขั้นของเป้าหมาย มันไม่ได้เป็นแมตช์ที่พิเศษและถูกจับตามองสักเท่าไหร่ในกระแสคอลูกหนัง แต่ทว่าในเกมส์นั้นมานูเอล โลเปร่าประธานสโมสรของเบติสผู้ชิงชังในตัวสโมสรเซบีญ่าได้ออกกลอุบายว่าเขาจะมอบเงินก้อนโตให้กับนักเตะอัลบาเชเต้หากสามารถทำให้เซบีญ่าไม่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ลาลีกาได้ ! (กลอุบายนี้ราม่อน กัลเดร่อนก็เคยใช้กับบาร์ซ่าเช่นกันผลก็คือบาร์เซโลน่าพลาดแชมป์ลีคให้กับเรอัล มาดริดในปี 2007 ด้วยคะแนนที่เท่ากันแต่เฮดทูเฮดนั้นมาดริดเหนือกว่า

ผลระหว่างเซบีญ่าและอัลบาเชเต้ก็คือ 1-1 ซึ่งสุดท้ายแล้วเซบีญ่าก็ไม่สามารถเข้าสู่รอบเพลย์-ออฟเลื่อนชั้นได้ ! หลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวครั้งนี้ทำให้ประธานสโมสรเบติสอย่างโลเปร่านั้นถูกแฟนบอลเซบีญ่าถูกขู่จะเอาถึงชีวิตเลยทีเดียว เลยเป็นเหตุเดือดใจที่ทำให้เขาต้องออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกับประเด็นการอัดฉีดดังกล่าว 

โลเปร่าได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่างหาเรื่องดังกล่าว ว่าไม่มีความเป็นจริงเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ทว่าเขาก็ได้กล่าวต่อไปว่าถึงแม้ต่อให้เป็นความจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเขาจะมีเจตนาเช่นนั้นกับสโมสรที่เป็นศัตรูอย่างเซบีญ่า และโลเปร่าก็ได้กล่าววลีเด็ดทิ่มแทงเข้าไปในความโทสะของสาวก 'Los Rojiblancos' ว่า " ผมมีแผนทีเด็ดกว่านั้นที่ผมจะทำและมันก็เป็นสิ่งชอบธรรมที่ผมต้องการ


ในช่วงยุค 90's ถือว่าเป็นยุคตกต่ำของเซบีญ่าเนื่องจากว่าทีมดังอดีตดับเบิ้ลแชมป์ ยูฟ่าคัพนั้นต้องโลดแล่นอยู่ในเซกุนด้า ดิวิชั่นเป็นเวลาร่วมทศวรรษ ขณะเดียวกันทีมรากหญ้าอย่างเบติสก็รุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นมาด้วยจำนวนเงินและการประสบความสำเร็จในการโลดแล่นในสังเวียนลาลีกา สเปนโดยเฉพาะในฤดูกาล 95-96 นั้นเบติสจบด้วยอันดับที่ 3 ของตารางและได้สิทธิ์ไปเล่นถ้วยยูฟ่า คัพหรือยูโรป้า ลีคในปัจจุบันนั่นเอง 

แต่ถึงอย่างไรก็ตามความมั่งคั่งมั่งมีของเบติสนั้นก็ว่ากันว่ายังไม่สามารถทัดเทียมทีมคู่แค้นอย่างเซบีญ่าได้ และในปี 1998 นั้นเองเบติสก็ได้โชว์ความมั่งคั่งของสโมสรด้วยการคว้าตัวเดนิลสันนักเตะทีมชาติบราซิลด้วยค่าตัวทั้งหมดทั้งสิ้น 22 ล้านยูโร ! ตอกหน้าเซบีญ่าที่ยังอยู่ในเซกุนด้า ดิวิชั่น 

แต่เหมือนว่าทิศทางของทั้งสองสโมสรนั้นกลับตาลปัตร มันเหมือนตลกร้ายสำหรับเบติสเมื่อสิ้นสุดในฤดูกาล 1999-2000 พวกเขากลับต้องตกชั้นไปสู่เซกุนด้า ! แต่กลับกันเซบีญ่าสามารถเอาชนะสโมสรเรอัล โอเวียโดในรอบเพลย์ ออฟและขึ้นสู่ลีคสูงสุดของสเปนอย่างลาลีกาได้สำเร็จภายใต้การคุมทีมของฮัวคิน กาปาลอสปราชญ์ลูกหนังคนหนึ่งของสเปน ซึ่งปัจจุบันคุมทีมแอธเลติก บิลเบาอยู่นั่นเอง

เสียงหัวเราะของสองเมืองได้สลับขั้วกันอย่างมิได้นัดหมาย ของสองทีมคู่แค้นและผลกระทบแห่งการแบ่งแยกชนชั้น ! และในฤดูกาลปัจจุบันที่จะถึงนี้เบติสก็ได้เลื่อนชั้นสู่ลาลีกาอีกครั้งหนึ่งแล้ว เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะสนใจในแมตช์นี้เพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อย ! 

: ศึกนอกและศึกในของบาสก์ คันทรี่ : 


แคว้นบาสก์นั้นว่ากันว่าพวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูงและยึดถือในเอกภาพของตัวเองยิ่งกว่าชาวคาตาลันเสียอีก แต่นั่นยังไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึงในหน้านี้สักเท่าไหร่ 

ต้องขอเกริ่นเล็กน้อยสำหรับแคว้นบาสก์นั้นพวกเขาเป็นแคว้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นแคว้นแห่งอุตสาหกรรรม และแหล่งรวมแร่ธาตุต่างๆมากมาย และยังรวมไปถึงสถาปัตยกรรมระดับโลกอีกในบริเวณตัวเมืองบิลเบา พูดถึงแคว้นบาสก์สโมสรที่ลอยเข้ามาในหัวโดยฉับพลันเลยก็คือแอธเลติก บิลเบาและเรอัล โซเซียดัต จริงๆแล้วแคว้นบาสก์ยังมีสโมสรอื่นๆที่น่าสนใจอีกเช่น Arenas และ Real Union สองสโมสรที่ร่วมแข่งการแข่งขันลีคสูงสุดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เริ่มมีการแข่งขันในครั้งแรกเลยทีเดียว 

เป็นที่รู้กันว่าบาสก์ก็เป็นหนึ่งในแคว้นที่เป็นปรปักษ์กับทางเมืองหลวงอย่างกาสตีญ่า ฉะนั้นมันก็ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติที่เมื่อทีมอย่างโซเซียดัตและบิลเบาต้องฟาดแข้งกับมาดริด อารมณ์บรรยากาศของเกมส์ย่อมไม่ใช่แค่อารมณ์ของมนต์เสน่ห์ลูกหนัง 

ชาวบาสก์นั้นได้ถูกนายพลฟรังโกกดขี่ข่มเหงเช่นเดียวกับคาตาลันโดยทั้งการห้ามพูดภาษาบาสก์และร้องเพลงชาติของตนเอง รวมไปถึงห้วงเวลาแห่งความสงสัยของระยะเวลาร่วมประมาณสี่สิบปีที่เป็นปริศนา 

ตั้งแต่ฤดูกาล 1928 จนถึง 1936 ร่วมระยะเวลาประมาณ 8 ฤดูกาลแรกสุดในประวัตศาสตร์ของลีคฟุตบอลสูงสุดในประเทศสเปนนั้น แอธเลติก บิลเบาคว้าได้ถึง 4 ถ้วยในแปดครั้ง และหลังจากสงครามกลางเมืองที่สเปน และการเป็นใหญ่ของนายพลฟรังโกนั้น ร่วมนับ 40 ปี ก่อนสิ้นอายุขัยของนายพล ฟรังโกเลยทีเดียวที่บิลเบานั้นคว้าแชมป์ได้เพียงแค่ 2 ครั้ง ทั้งๆที่ครั้งเมื่ออดีตนั้นบิลเบาเป็นทีมมหาอำนาจทางลูกหนังเหนือกว่าบาร์เซโลน่าและเรอัล มาดริดเสียอีก


หลังจากการสิ้นลมหายใจของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกในแคว้นบาสก์นั้นได้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วแคว้น และได้มีการแต่งเพลงเพลงหนึ่งเกี่ยวกับการจากไปของนายพลฟรังโกขึ้นซึ่งประโยคเริ่มของเพลงนั้นจะขึ้นต้นด้วยคำว่า 'He flew He flew ...' ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนั้นเมื่อเรอัล มาดริดต้องออกมาเยือนทีมอย่างบิลเบา หรือโซเซียดัตก็ตามทีเพลงมาร์ชอย่างไม่เป็นทางการนี้ก็จะถูกร้องโดยพร้อมเพรียงกัน 

ว่ากันว่าครอบครัวใดที่มีลูก พ่อและแม่จะร้องเพลงดังกล่าวเพื่อเป็นการกล่อมลูกนอนในแต่ละคืนเลยทีเดียว และมันจะยิ่งเพิ่มความไพเราะขึ้นไปอีกถ้าหากในวันถัดไปจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมของพวกเขากับมาดริดขึ้นในแคว้นบาสก์

ศึกนอกของแคว้นบาสก์ยังมีประเด็นที่กล่าวขวัญถึงปัจจุบันอีกนั่นก็คือการคว้าแชมป์ลีคสูงสุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเรอัล โซเซียดัตในฤดูกาล 1980-1981 เหนือเรอัล มาดริดซึ่งมีคะแนนเท่ากันอยู่ 45 คะแนนแต่ต้องชอกช้ำใจอย่างเจ็บปวดเนื่องจากกฏเฮดทูเฮดที่โซเซียดัตนั้นดีกว่า 


เหตุการณ์ยังไม่ชอกช้ำเพียงแค่ข้างต้น ในแมตช์สุดท้ายของโซเซียดัตนั้นจะต้องออกไปเยือนทีมสปอร์ตติ้ง กิฆอนในถิ่นเอล โมลินอนในทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปน ก่อนเกมส์แมตช์ประวัติศาสตร์นี้จะเริ่มขึ้นนั้นเรอัล มาดริดได้คว้าสามแต้มสำคัญแซงหน้าไปเป็น 45 แต้มเรียบร้อยแล้ว ขอเพียงแค่โซเซียดัตไม่สามารถคว้าชัยชนะเหนือกิฆอนได้ในเกมส์นี้ราชันย์ ชุดขาวก็จะเป็นฝ่ายเปล่งเสียงแห่งชัยชนะออกมา แต่ทว่า .. โชคชะตาไม่ได้ลิขิตเช่นนั้น 

เฆซุส ซาโมร่ามิดฟิลด์ของโซเซียดัตผู้ซึ่งได้ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในนักเตะตำนานของสโมสรโซเซียดัตในเวลาถัดมา ได้เป็นผู้ทำประตูชัยในเกมส์นั้นให้โซเซียดัตเอาชนะกิฆอนไปได้ด้วยสกอร์ 1-2 และการทำประตูของซาโมร่านั้นเกิดขึ้นก่อนหมดเวลาการแข่งขันเพียงแค่ 12 วินาที !!! เสียงเฮแห่งความปิติยินดีของชาวซาน เซบาสเตียนได้ดังกระหึ่มร่วมระยะทาง 150 ไมล์จนถึงสนามเหย้าของสปอร์ตติ้ง กิฆอนเลยก็ว่าได้ 

เหตุการณ์นั้นก็ทำให้โซเซียดัตคว้าแชมป์แรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรเหนือทีมอย่างเรอัล มาดริดได้ อารมณ์ของแฟนบอลชาวบาสก์ความปิติยินดีของพวกเขาว่ากันว่าลูกยิงของซาโมร่าทำให้ความเจ็บปวดคับแค้นใจบนรอยยิ้มของฟรังโกตลอด 40 ปีที่ผ่านมานั้นเลือนหายไปในพริบตา 

ถึงแม้นว่าผู้คนจากซาน เซบาสเตียนและบิลเบาจะมีความสามัคคีกันในเรื่องของการเมืองการปกครอง แต่ในโลกของวงการลูกหนังย่อมมีข้อยกเว้น แอธเลติก บิลเบาและเรอัล โซเซียดัตถือว่าเป็นศัตรูคู่แข่งร่วมแคว้นบาสก์กันอย่างชัดเจน สงครามในสังเวียนลูกหนังที่ปะทุมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งนั้นก็คือการย้ายตัวของดาวรุ่งพรสวรรค์สูงเลือดบาสก์อย่างโฆเซบา เอ็กเซเบร์เรีย 


ในปี 1995 ด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปีเอ็กเซเบร์เรียได้ลงเล่นให้กับโซเซียดัีตอย่างเป็นทางการนัดแรกกับสโมสรสปอร์ตติ้ง กิฆอนโดยเจ้าตัวได้ยิงให้กับทีมต้นสังกัดทั้งสิ้น 2 ประตูและทำให้ทีมได้รับชัยชนะ ด้วยอายุที่แม้แต่เข้าสถานเริงรมย์ก็ยังผิดกฏหมาย 

แต่ทว่าเหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อในปี 1996 เอ็กเซเบร์เรียวัย 18 ปีได้ย้ายสู่ทีมคู่ปรับร่วมแคว้นบาสก์อย่างบิลเบาด้วยค่าตัว 3 ล้านยูโรซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในการซื้อขายนักเตะอายุเพียงแค่ 17 ย่าง 18 ปีในช่วงเวลานั้น

สถานะเอ็กเซเบร์เรียนั้นไม่แตกต่างจากหลุยส์ ฟิโก้เลยแม้แต่น้อย แฟนบอลโซเซียดัตต้อนรับเค้าด้วยเพลงที่เต็มไปด้วยคำสบถ ภาพวาดล้อเลียนต่างๆนาๆ และที่ระอุที่สุดคงหนีไม่พ้นในปี 2001 เมื่อบิลเบาต้องไปเยือนถิ่นซาน เซบาสเตียนของโซเซียดัต เอ็กเซเบร์เรียทำสองประตูให้บิลเบาคว้าชัยชนะเหนือโซเซียดัตเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี

หลังสิ้นเสียงนกหวีดจบเกมส์ .. มันเป็นไปตามสิ่งที่แทบไม่ต้องคาดเดา แฟนบอลโซเซียดัตต่างเปล่งเสียงพร้อมคำหยาบด่าทออดีตนักเตะของตัวเอง พร้อมใจกันเขวี้ยงกระดาษและขวดน้ำ ด้วยโทสะ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โซเซียดัตต้องเสียค่าปรับร่วมแสนยูโรเป็นสิ่งตอบแทนต่อการกระทำ 

คำว่า 'ฟุตบอลการเมือง' ในดินแดนกระทิงดุไม่ได้มาจากสิ่งลวงหลอก แต่มันมาจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ชนชั้นวรรณะ ประเพณี บทบาททางการเมืองของสเปนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลตั้งแต่อดีตตราบจนถึงปัจจุบันและยังไม่หายไป 

0 ความคิดเห็น:

Leave a Comment

Back to Home Back to Top OAKK's COLUMN. Theme ligneous by pure-essence.net. Bloggerized by Chica Blogger.